เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ก่อน มีการจัดงาน EV Drive & Ride ภายในงาน EV Asia 2020 ที่จัดขึ้นโดย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและอินฟอร์มามาร์เก็ต เป็นงานที่รวบรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงการรวบรวมรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ 100% (Battery Electric Vehicles) จากค่ายรถยนต์ที่มีผลิตภัฑณ์ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มารวมตัวกันที่ ไบเทค บางนา
โดยในบรรดารถไฟฟ้าทั้ง 10 คัน ที่มาร่วมงาน มีหนึ่งคันที่เรียกได้ว่าโดดเด่นออกมาเกินหน้าเกินตาเพื่อน ไม่ใช่เพราะดีไซน์หรือรูปทรงที่ฉูดฉาดล้ำสมัยกว่าคนอื่นเค้า แต่เพราะว่ามันคือรถยนต์ซีดานที่ใช้กันทั่วไปและเห็นกันบ่อยบนท้องถนนไทย รถคันที่ว่านี้คือ Nissan Almera รถซีดานอีโค่คาร์ ที่พื้นฐานคือรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในนั่นเอง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมารวมกับฝูงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ได้
หลังจากที่ได้เข้าไปสอบถามกับวิศวกร ฝ่ายบริหารงานวิจัยและพัฒนา จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยืนรอคอยพร้อมให้ข้อมูลอย่างใจจดใจจ่อ โดยได้ข้อมูลมาว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ต้นแบบที่ทาง กฟผ. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำลังทำการวิจัยเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนของโลกการคมนาคมในอนาคต มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน ให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% และ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้
เจ้ารถต้นแบบคันนี้ คือรถยนต์ที่ทางผู้วิจัยได้ทำการเปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบน้ำมันออกทั้งหมด ซึ่งในฝากระโปรงด้านหน้าจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า และ กล่อง “อินเวอร์เตอร์” สำหรับควบคุมการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอร์รีเข้าสู่มอเตอร์ พร้อมทั้งเพิ่มหน้าจอแสดงผลของระบบไฟฟ้าไว้ในตัวรถ และช่องเติมน้ำมันก็เปลี่ยนเป็นช่องสำหรับหัวชาร์ตไฟฟ้า “Type 2” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า ก็เป็นแพคแบตเตอร์รี่ที่ใส่ไว้ในที่เก็บของใต้ฝากระโปรงท้ายรถ
เมื่อได้เข้าทดลองในสนามทดลองขับในระยะสั้นๆ ก็พบว่ารถยนต์คันนี้สามารถนำมาใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่เทียบเท่ารถ EV แท้ๆ จากโรงงาน ก็พูดได้เต็มปากว่า สามารถมาเติมเต็มความต้องการในหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ โดยตัวเลขความเร็วที่ทางวิศวกร “เคลม” มา ว่ารถคันนี้สามารถทำความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม. เลยทีเดียว
และจากการพูดคุยเพิ่มเติมกับวิศกรว่าอะไรคือความท้าทายของการทำรถคันนี้ขึ้นมา ทางวิศวกรเอ่ยมาว่า ความท้าทายที่สุดก็การแปลงระบบส่งกำลังรถคือการสื่อสารกับตัว ECU รถนั่นเอง และการที่ทางผู้วิจัยสามารถทำให้กล่อง ECU ยอมรับการเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็นมอเตอร์แทน และสามารถใช้งานได้ปกติถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำรถคันต่อๆ ไป และแน่นอนว่า Nissan Almera คันนี้ก็โดนจูน ECU ไปแล้วเรียบร้อย
ถามว่าโปรเจคการเปลี่ยนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคันนี้เหมาะกับใคร ณ ตอนนี้ หากเราย้อนกลับมาดูเรื่องค่าใช้จ่ายของการแปลงระบบแล้ว ราคาคร่าวๆ จะอยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 บาท โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายของแบตเตอร์รี่ ซึ่งในปัจจุบันราคายังค่อนข้างสูง และอาจจะยังไม่คุ้มค่าสำหรับผู้ใช้งานในช่วงเวลานี้ ดังนั้นแล้วกลุ่มเป้าหมายที่เรียกได้ว่า “อาจจะเหมาะ” จริงๆ น่าจะเป็นกลุ่มสะสมรถเก่า ที่ต้องการอยากเอารถในคอเลกชั่นออกมาโลดแล่นโดยไม่ต้องสนใจในเรื่องของการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ เพียงแค่สลับหัวใจของรถเพียงเท่านั้น
สำหรับใครที่สนใจในการ “ดัดแปลง” ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ใช้ หรือ อู่ผู้ให้บริการ สามารถเข้าไปติดต่อสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line ID: @egatacademy โดยทาง กฟผ. ได้เปิดหลักสูตรทำการอบรมให้สำหรับผู้สนใจได้ไปเรียนรู้และไปปฎิบัติจริง ทั้งนี้ก็เพื่อให้โลกที่เราอาศัยอยู่สะอาดขึ้นมาอีกซักนิดก็ยังดี
EVboy